กระต่ายสูงวัย ดูแลอย่างไร ในช่วงบั้นปลาย

older_jp3

การดูแลกระต่าย ในช่วงบั้นปลายของชีวิต

หากคุณนึกไม่ออก ว่ากระต่ายในวัยชราเขาจะเป็นเช่นไร และเมื่ออยู่ในช่วงสูงวัยเราต้องดูแลเขาอย่างไรได้บ้าง ให้คุณลองนึกถึงผู้ใหญ่คนใกล้ตัวรอบข้างตัวคุณ ไม่ว่าจะเป็น พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย อากง อาม่า หรือ นึกคิดจิตนาการไปถึง ยามที่ตัวคุณเองแก่ชรา คุณจะใช้ชีวิตอยู่ต่ออย่างไรให้ได้นาน และมีความสุขที่สุด

เมื่อกระต่ายของคุณเริ่มแก่ตัวลง อาหารการกิน จากที่เขาทานได้เยอะกับน้อยลง บางตัวกลับเชื้องช้า ไม่ค่อยกระตือรือร้น หรืออยากรู้อยากเห็นเหมือนก่อน บางตัวตาอาจมองเห็นได้ไม่ชัดเจน เป็นต้อกระจกบ้าง มองเห็นข้างเดียว หรือ อาจตามืดบอดมองไม่เห็นอะไรได้อีกเลย ทำให้วิ่งชนนั่นชนนี่เป็นประจำ อ่านดูแล้วบางท่านอาจตลก แต่จริงๆแล้วมันเป็นช่วงหนึ่งในชีวิตของเขาที่น่าสงสารที่สุดช่วงหนึ่งเลย

หรือการที่เขาไม่ค่อยได้เคลื่อนไหว ระบบภายในเลยทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร บางตัวกล้ามเนื้อไม่ค่อยจะมีเรี่ยวแรง เนื่องจากไม่ค่อยได้ถูกใช้งาน เลยนอนจมกองฉี่ของตัวเองทำให้เกิดปัญหาเจ็บป่วยตามมาได้ ทุกพฤติกรรมของเขา ต้องแยกให้ออกระหว่างเขาเริ่มแก่ กับ เจ็บป่วย คุณจำเป็นต้องช่างสังเกต และจดจำสิ่งต่างๆเกี่ยวกับตัวเขา


สุขภาพจิตที่ดีในยามเขาแก่ชรา คือสิ่งสำคัญ

ความเครียดทำให้กระต่ายดูแย่ลง บางตัวจากที่เคยมองเห็น กลับตาบอดต้องอยู่กับความมืดไปจนหมดลมหายใจ หรือ จากที่เคยเดินได้ วิ่งเล่นกระโดดได้อย่างอิสระ กล้ามเนื้อกลับหมดเรี่ยวแรง ต้องนอนนิ่งๆ จะลุกขึ้นยืนยังไม่ได้เลย เขาคงมีคำถามเต็มหัวไปหมด ว่าทำไมฉันถึงลุกไม่ขึ้นนะ เดินก็ไม่ได้.. จากสิ่งที่กำลังเป็นอยู่ ความเครียดเลยถามหา สุขภาพจิตเลยย่ำแย่ลง

“เวลา จะทำให้เขาเข้าใจ และปรับการใช้ชีวิตใหม่ เรียนรู้ที่จะอยู่ต่อไป โดยมีกำลังใจที่ได้จากคุณ”

กำลังใจจากผู้เลี้ยง ที่เติมเต็มให้กระต่ายแก่วัยชราอย่างเขา คือสิ่งสำคัญ “ถึงเธอจะมองไม่เห็น หรือแก่จนลุกเดินไม่ไหว เธอก็ยังมีฉันอยู่ ฉันจะเป็นคนพาเธอไปทุกที่ ในที่ที่เธออยากจะไป เธอไม่ต้องกังวล เพราะฉันจะอยู่ข้างๆเธอ” เชื่อเถอะว่า ในสิ่งที่คุณพูด สิ่งที่คุณสื่อสาร เขาสามารถรับรู้ และสัมผัสถึงความรู้สึกของคุณได้

กระต่ายในวัยชรา เจ็บป่วยได้เป็นไปตามวัย ซึ่งหากคุณพยายามดูแลเอาใจใส่เขาอย่างเข้าใจ ประคับประคองให้เขาสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้โดยเขาไม่ต้องทุกข์ ไม่เครียดกับสภาพร่างกายที่เปลี่ยนไป เขาจะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ในบั้นปลายของชีวิตอย่างมีความสุขได้อย่างแน่นอน

older_jp2


การหมั่นสังเกตพฤติกรรม จะช่วยลดภาระต่างๆให้คุณได้ ในอนาคต

หากคุณคอยสังเกตพฤติกรรมของกระต่ายที่คุณเลี้ยงอยู่สม่ำเสมอ คุณอาจจะเหนื่อยน้อยลงในอนาคต ทั้งการดูแลยามเขาแก่ชรา เนื่องจากเขายังคงแข็งแรงฟิตเปรี๊ยะ ทำให้พอที่จะช่วยเหลือตัวเองได้ แถมยังสุขภาพดีไม่ค่อยเจ็บป่วย จนทำให้คุณต้องมานั่งทุกข์ใจ หรือ ค่าหมอที่คุณไม่ต้องเสียไปฟรีๆ กับการรักษาตามอาการไปเรื่อยๆ รักษาไม่ตรงโรค เพราะไม่รู้ว่าเขาเป็นอะไรกันแน่นั่นเอง

“เลี้ยงกระต่าย ไม่จำเป็นต้องจ่ายแพง เสมอไป”

จะดีไหม? หากคุณจดจำสิ่งต่างๆเกี่ยวกับกระต่ายที่คุณเลี้ยงได้ อย่างเช่น..

  • กระต่ายที่คุณเลี้ยง ชอบกินหญ้าแห้งมาก ให้เท่าไหร่ก็กินไม่เหลือ
  • ส่วนที่ชอบที่สุดของหญ้าแห้งคือ ส่วนของก้าน/ส่วนของใบ
  • มักจามอยู่บ่อยๆ เวลาเขากินหญ้า
  • หรือ ไม่ค่อยได้ให้กินหญ้า ส่วนมากจะชอบกินผัก ผลไม้เสียมากกว่า
  • ชอบขนม หรือ มีเอาขนมของคน ให้เขากินอยู่บ่อยๆ
  • ชอบนอนมากกว่าวิ่งเล่น ซึ่งเป็นแบบนี้มาตั้งแต่เด็กๆ
  • มักชอบนอนท่าประหลาดๆ ให้ตกใจอยู่เสมอ
  • ชอบพุ่งเข้าใส่เหมือนจะกัด เวลาที่เรานำชามอาหารไปให้
  • ไม่ชอบกินน้ำ หรือ กินน้ำน้อยมาก
  • ชอบกระทืบพื้นกรงบ่อยๆ
  • ชอบนอน หรือ นั่งทับฉี่ตัวเองเป็นประจำ
  • โรคประจำตัวของเขา หรือ โรคที่เป็นหนักๆตอนเด็ก
  • หากเลี้ยงหลายตัว แต่ละตัวมีนิสัยใจคอ ยังไงกันบ้าง
  • และ เรื่องอื่นๆที่คุณจำได้ เกี่ยวกับตัวเขา

“มันจำเป็นด้วยเหรอ ที่จะต้องจดจำเรื่องต่างๆของเขา” ซึ่งถ้าหากคุณไม่อยากจ่ายแพง หรือยืดเยื้อกับการรักษาในบางเคส คุณก็จำเป็นต้องจำ อย่างน้อยพอจะนึกออกได้บ้างก็ยังดี

เมื่อกระต่ายคุณป่วย เวลาหมอตรวจและรักษา หมอจะสันนิษฐานไปตามอาการ บางครั้งอาจยืดเยื้อ ไม่ก็หาสาเหตุของอาการเจ็บป่วยไม่พบ แต่ถ้าคุณสามารถเล่าเหตุการณ์ หรือ เรื่องเกี่ยวกับกระต่ายที่คุณเลี้ยง ให้คุณหมอฟังคร่าวๆได้บ้าง จะทำให้คุณไม่ต้องเสียทั้งเวลา และค่าใช้จ่ายที่อาจบานปลายได้ในภายหลัง ยิ่งกระต่ายในวัยชรา ยิ่งรักษายากในบางกรณี

older_jp4

ยกตัวอย่าง จากเรื่องที่ได้คุยกับแฟนเพจ

มีอยู่เคสหนึ่ง เพื่อนแฟนเพจพากระต่ายไปหาหมอ เนื่องจากขาหลังข้างหนึ่งมีปัญหา และก็ไม่ทราบว่ากระต่ายไปทำอะไรมาถึงขาเจ็บ เมื่อไม่ทราบหมอเลยพากระต่ายไป X-ray(แน่นอนมันต้องมีค่าใช้จ่าย จะเท่าไหร่ก็แล้วแต่คลินิก หรือ โรงพยาบาลสัตว์) X-ray แล้ว ไม่พบอะไรผิดปกติ หมอบอกไม่น่าเป็นอะไรมาก เลยพากลับบ้าน

ผ่านไปเป็นเวลาหลายวัน กระต่ายเริ่มดีขึ้น ไม่นานก็กลับมาเป็นปกติ วิ่งดริฟทั่วบ้านได้เหมือนเดิม ลองนึกย้อนกลับไป คุณเสียค่าใช้จ่ายไปแล้วเท่าไหร่ 200.. 300.. หรือ 600 บาท บางที่ นอกจากค่า X-ray แล้ว ยังมีค่าหมอ ค่าบริการอื่นๆอีก รวมเป็นพันกว่าบาท ไหนจะค่าน้ำมัน ค่า Texi ที่ยังไม่นับรวมอีก(บางท่านอาจบอก เสียเงินเพื่อความสบายใจ แต่ถ้าเสียแล้ว ไม่รู้เป็นอะไร รักษาไม่หาย ไม่ตรงโรค ครั้นจะกลับไปก็คงต้องมานั่งนับเงินในกระเป๋าสตางค์ ว่าพอค่าหมออีกรอบหรือเปล่า คุณคงกลุ้มใจไม่น้อย)

หลังจากที่ได้คุยกับแฟนเพจท่านนี้ พอจะสรุปคร่าวๆให้เขาฟังประมาณว่า “กระต่ายของคุณอาจชอบกระทืบกรงบ่อยๆ กระทืบผิดท่า เลยเจ็บตัวหรือเปล่า หรือ บริเวณพื้นที่ที่เขาวิ่งเล่น มีสิ่งกีดขวางทำให้เขาไปเหยียบ กระโดดไปทับจนเจ็บขา ประมาณดริฟมากไปจนเจ็บตัว ไม่ก็เล็บยาวติดร่องพื้นกรงจนเขาต้องออกแรงกระชากจนขาเจ็บก็อาจจะเป็นได้ จนทำให้อาจจะเกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบ X-ray ก็เลยไม่พบ แต่อาจยังเจ็บขาอยู่ก็เป็นได้” ทั้งนี้คนที่จะทราบได้ดีที่สุด ถึงพฤติกรรมของเขา ก็คือผู้เลี้ยงอย่างคุณนั่นเอง


ในยามเธอแก่ชรา ฉันคงไม่รู้.. ว่าเธอจะมีชีวิตอยู่ได้อีกนานแค่ไหน แต่หากเธอจะต้องจากไป ฉันขอให้เธอหลับไปเฉยๆ ไม่เจ็บป่วยทรมาน แบบนี้ฉันคงทำใจได้ง่ายกว่า

เขียนโดย : Admin J
ภาพประกอบ : Admin J

    ภาพ บทความ หรือผลงานใดๆ ในบลอคนี้ ใช้สัญญาอนุญาต Creative Commons แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย แปลว่าคุณสามารถนำไปเผยแพร่ได้ แต่ต้องให้เครดิตกันด้วยนะจ๊ะ