เตรียมตัวอย่างไร? เมื่อกระต่ายเข้าสู่วัยชรา

กาลเวลาเปลี่ยน อะไรๆก็ย่อมเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา กางเกงที่เคยมียางยืด..อยู่ดีๆกลับย้วยไปเสียอย่างนั้น.. หรือ จากที่เคยมีความรักกลับถูกทิ้งโดยไม่เหลือเยื้อใย หรือ จากที่เคยหนุ่มสาวกับแก่ชราไร้เรี่ยวแรง เมื่อวันเวลาทำให้ร่างกายอย่างมนุษย์เราเปลี่ยนไป กระต่ายอย่างเขาก็แก่ชราและพร้อมจากคุณได้ทุกเมื่อเช่นกัน


เราจะรู้ได้อย่างไร? ว่ากระต่ายแก่ชรา

จากสูงวัยไปแก่ชรา จากที่เคยมองเห็นได้ชัด กลับตามืดบอดจนมองไม่เห็น.. จากที่กระโดดได้วิ่งเล่นได้ กลับค่อยๆสูญเสียกำลังขาที่จะหยัดยืน.. กระต่ายแก่ ก็เหมือนกันคนแก่ ผมจากขาวเป็นดำ ผิวหนังเหี่ยวย่น ฟันที่เริ่มหลุดร่วง ยืนตัวตรงไม่ได้ หรือ เดินไม่ไหว จนต้องนอนติดเตียง แล้วถ้าเป็นกระต่าย เราจะรู้ได้อย่างไรกันนะ? ทางด้านล่างนี้ เป็นสัญญาณที่พอจะบ่งบอกได้บ้าง ว่าเขาเริ่มแก่ชรามาก..

  • เล็บที่เปราะบาง แตกหักง่าย ถ้าคุณตัดเล็บให้เขาเอง คุณจะรู้สึกถึงความแตกต่าง
  • การเคลื่อนไหวที่เชื่องช้า ทำกิจกรรมต่างๆน้อยลง จากที่เคยวิ่งเล่น กับใช้เวลาหมดไปกับการนอนอยู่เฉยๆ
  • ตาเริ่มมองไม่เห็น หรือ อาจเป็นต้อสำหรับบางตัว จะข้างเดียว สองข้าง ขึ้นอยู่กับตัวกระต่าย
  • กินอาหารได้น้อยลงกว่าเดิมค่อนข้างมาก(สำหรับบางตัว) บางมื้อแทบไม่แตะ หรือ แค่คำสองคำเท่านั้น
  • สูญเสียกำลังของขาหลัง หรือ ขาหลังไม่มีแรงพอที่จะลุกขึ้นยืน ทำให้ต้องคลานไปมา
  • จากที่เคยอวบอ้วนมีน้ำมีนวล กลับผอมลง จนเริ่มสัมผัสได้ถึงซี่โครง
  • ฯลฯ อีกหลายข้อสังเกต ที่ผู้เลี้ยงจะรับรู้ได้ดีที่สุด ว่าเขาแก่มากแล้วนะ

กระต่ายวัยชรา ดูแลอย่างไรดี?

เมื่อความชรามาเยือน เป็นสัญญาณเตือนให้คุณต้องดูแลเขาเป็นพิเศษมากขึ้น.. ด้วยสภาพร่างกายที่ไม่เหมือนเดิม อาจจะทำให้เขาเกิดความเครียด เพราะความไม่เข้าใจ ว่าทำไมดวงตาของเขาถึงมองไม่เห็น หรือ ทำไมเขาถึงลุกเดินไม่ได้เหมือนเมื่อก่อนนะ แต่ที่สุดแล้วเขาจะปรับตัวได้เอง โดยมีคุณคอยอยู่เคียงข้าง ดูแลสภาพจิตใจให้กับเขา

กระต่ายวัยชรา ส่วนมากจะหมดเวลาไปกับการนอน ไม่ค่อยมีความกระตือรือร้น หรือ อยากรู้อยากเห็นเหมือนก่อน ฉะนั้น..เรื่องโภชนาการ อาหารมื้อหลัก อาหารว่าง ผู้เลี้ยงจึงจำเป็นที่จะต้องดูแลเอาใจใส่เขาเป็นพิเศษ จากดีอยู่แล้ว เป็นดีที่สุดกว่าเดิม จากอาหารเม็ดที่เคยให้มื้อละมากๆ อาจลดลง และเพิ่มหญ้าปริมาณมากๆให้เขาแทน ให้เขาได้นอนกินไปเรื่อยๆอย่างสบายใจ ส่วนผักสดอื่นๆ รวมถึงหญ้าขน ยังให้ได้ แต่นานๆที หรือ ให้เป็นครั้งคราวจะดีกว่า เพื่อเพิ่มความสดชื่นบ้างในบางวันให้กับเขา

และเพื่อสุขภาพที่ดีของเขาในเวลาที่เหลืออีกไม่นานนัก สำหรับ “ขนม” ไม่ให้เลยจะดีที่สุด เนื่องจากคุณค่าทางอาหารที่มีไม่มาก จนแทบไม่มีเลยในขนมบางอย่าง หรือ มี..แต่ถึงอย่างไรก็ทดแทนอาหารหลักไม่ได้อยู่ดี แถมในขนมบางอย่าง ยังให้พลังงานสูง และเกินความจำเป็นต่อร่างกาย ซึ่งหากได้รับเข้าไปในปริมาณมากๆ ยิ่งในวัยชราที่ไม่ค่อยได้วิ่ง หรือ ออกกำลังกายสักเท่าไหร่ พลังงานที่ถูกสะสมหากไม่ได้ใช้ จะทำให้เขามีปัญหาน้ำหนักตัวที่มากขึ้น เป็นโรคอ้วน แผลกดทับที่ฝ่าเท้าในกระต่ายบางสายพันธุ์ และปัญหาอื่นๆที่จะตามมา หากคุณยังมือหนักกับขนม เราว่า..คุณเตรียมตัวเสียค่ารักษาพยาบาลก้อนโตได้เลย แทนที่เขาจะจากไปอย่างสงบ กับจากไปอย่างทรมานด้วยโรคหลายๆอย่างที่รุมเร้าแทน


5 ข้อ สั้นๆ ดูแลอย่างไรดี กระต่ายวัยชรา(ได้ทุกวัย)

  1. ดูแลเอาใจใส่เรื่องอาหารการกิน ลดเม็ดๆ งดขนม(หรือให้น้อยลง) เพิ่มหญ้ากองโต
  2. ออกกำลังกายเบาๆบ้าง เดินบ้าง วิ่งบ้าง ถึงจะนิดหน่อยก็ยังดี
  3. ลองพาเขาไปตรวจสุขภาพกับสัตวแพทย์เฉพาะทางดูบ้าง
  4. ดูแลรักษาความสะอาดให้กับเขาสม่ำเสมอบ้าง เล็บ ตา หู ขน ก้น ฝ่าเท้า
  5. รักษาความสะอาดที่อยู่อาศัย กรง ชามอาหาร ขวดน้ำ ฯลฯ ให้กับเขา

แนะนำตัว ซิดนีย์.. “ฉันจะอยู่เรื่อยๆไปกับเธอ จนกว่าจะหมดลมหายใจ”

นางแบบในวีดีโอทางด้านล่าง คือ ซิดนีย์ (ถ่ายไว้เมื่อต้นปี 2012) ซิดนีย์อยู่กับเรามาได้ 10 กว่าปีแล้ว ปัจจุบันขาหลังใช้งานได้ไม่ดีนัก(จะว่าไปก็ใช้การไม่ได้เลย) แค่พอพยุงตัวขึ้นยืนได้บ้าง แต่ถ้าขยับก็จะล้มกลิ้งทันที เดินไม่ได้เหมือนก่อน จะใช้วิธีลากตัวเองไปมาเหมือนแมวน้ำ..อุ๋งๆๆ

ทุกวันนี้ซิดนีย์พักบนกรงคอนโด ซึ่งเป็นห้องส่วนตัวของเขา มีปูแผ่นรองซับทับด้วยผ้านุ่มๆ สลับกับหญ้าที่นำมาปูแผ่ๆไว้เต็มกรง เพื่อลดแผลถลอกจากการที่เขาลากตัวเองไปมาก ส่วนความสะอาด 1-2 วันครั้ง ก็ต้องทำให้เขาแล้ว ป้องกันแผลฉี่กัดที่อาจเกิดจากการที่เขานอนแช่ฉี่ตัวเองจนเป็นแผล

และด้วยสายตาที่ไม่ค่อยดีนักอาจมีชนนู่นชนนี่บ้างตามประสากระต่ายแก่ แต่เรื่องกินนี่.. ยังกินเก่งเหมือนเดิม ซิดนีย์เป็นกระต่ายน่ารัก กินหญ้าเก่งมากๆ ชอบช่วยเพื่อนข้างห้องเหมาหญ้า(เวลาตัวอื่นกินไม่หมด) รวมถึงหญ้าเต็มกรงที่ปูให้เขา ก็ฟาดเรียบเช่นกัน ก็เป็นแบบนี้ทุกครั้ง ที่ซิดนีย์ทำให้เรายิ้มได้อยู่เสมอ ถึงร่างกายของเขาจะไม่เหมือนเดิมก็ตาม

เราไม่รู้ ว่าเขาจะอยู่กับเราได้อีกนานแค่ไหน จะอยู่ได้ถึงเมื่อไหร่ แต่ถ้าถึงเวลา ก็อยากให้เขาหลับไปเฉยๆเหมือนกับเพื่อนๆกระต่ายตัวอื่น ดีกว่าต้องเจ็บป่วยและจากไปอย่างทรมาน

UPDATE : ซิดนีย์จากปีไปแล้วอย่างสงบ เมื่อวันที่ 24/8/2017


แล้วเขาจะอยู่กับเราได้อีกนานแค่ไหนกันนะ?

เขาจะอยู่ได้อีกนานแค่ไหน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตัวเขาเอง โดยมีคุณเป็นคนสำคัญของเขาที่คอยอยู่เคียงข้าง.. รวมถึงการเลี้ยงดูที่ดีจากคุณ การปูพื้นฐานที่ดีตั้งแต่เขายังเด็ก จะทำให้เขาเป็นกระต่ายโตที่สุขภาพดีได้ในอนาคต และสิ่งที่คุณจะได้รับกลับมาคือความรักจากเขา รวมถึงเวลาที่เขาจะอยู่กับคุณก็มีมากขึ้นตามไปด้วย


กระต่ายที่ตายเพราะโรคชรา จะมีลักษณะและอาการอย่างไร

กระต่ายที่เราเลี้ยง ที่จากไปด้วยโรคชรา ส่วนมากจะหลับไปเฉยๆ จากไปในท่านอนและหลับตาโดยไม่แสดงอาการเจ็บป่วยใดๆให้เราได้เห็น อย่าง จาบาโน่ ที่อยู่ในภาพด้านล่าง คุณตากระต่ายใจดี จากไปแบบหลับปุ๋ยเหมือนกำลังหลับสบาย มือทับกัน นอนพิงตาปิดสนิท ตอนแรกเราก็คิดว่าเขาแค่หลับเฉยๆ พอเข้าไปดู ปรากฏว่าเขาเสียแล้ว ไปสบายแล้ว เพราะก่อนหน้า 1 วัน ยังเล่นกับเขา ยังนั่งดูเขากินหญ้าอยู่เลย แต่ยังไงก็ดีกว่าจากไปแบบเจ็บป่วยทรมาน แบบนี้ยังดีเสียกว่า


อย่าเสียใจไป หากเขาจากคุณไปด้วยโรคชรา เพราะสังขารไม่เที่ยง อย่างไรเสียก็ต้องถึงวันที่ต้องจากลา ทำวันนี้ให้ดีที่สุด ทำวันที่ยังเหลืออยู่กับเขาให้ดีที่สุด เท่าที่คุณสามารถทำให้เขาได้ มันคุ้มค่าแล้ว ที่เขาได้เกิดมาให้คุณได้รัก และเขาก็ได้รักกับคนดีๆเช่นคุณ

คุณทำดีที่สุดแล้วนะ ^^

เขียนโดย : Admin J
ภาพประกอบ : Admin J

    ภาพ บทความ หรือผลงานใดๆ ในบลอคนี้ ใช้สัญญาอนุญาต Creative Commons แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย แปลว่าคุณสามารถนำไปเผยแพร่ได้ แต่ต้องให้เครดิตกันด้วยนะจ๊ะ