ดูแลกระต่ายอย่างไร ให้สุขภาพดี ไม่เจ็บป่วย ในช่วงฤดูหนาว

winter_jp3

ถึงกระต่ายจะชอบอากาศเย็น แต่ก็ไม่ได้มีสภาพร่างกายที่ทนต่ออุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน หรือ ที่รุนแรงได้ ในเมื่อคุณยังต้องการความอบอุ่น หนาวคุณยังใส่เสื้อกันหนาว อากาศเปลี่ยนเย็นขึ้นกว่าปกตินิดหน่อย คุณยังน้ำมูกไหล จามกันดังลั่นบ้านเลย กระต่ายก็ต้องการเช่นกัน ซึ่งความต้องการที่ว่านี้ ไม่ได้หมายความว่า เราต้องหาเสื้อกันหนาวให้กระต่ายใส่หรอกนะ

สำหรับประเทศไทย ถึงอากาศจะเย็นไม่มาก และ อาจจะไม่ได้ยาวนานนัก แต่กระต่ายแต่ละตัวมีสภาพร่างกายไม่เหมือนกัน ฤดูหนาว(ที่โคตรจะสั้น)ของประเทศไทยนี่ล่ะ อาจทำให้เขาป่วยได้ สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง อาจทำให้เขาจาม เป็นหวัด น้ำมูกไหล หรือ บางตัวถึงกับเครียดเลยก็มี

อากาศเย็นๆ มักกระตุ้นให้กระต่ายของคุณแอคทีฟ บางตัวอาจจะดีดมาก ดีดน้อย ก็แล้วแต่นิสัยของแต่ละตัว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า พออากาศเย็น หรือ เข้าสู่ฤดูหนาว คุณจะปล่อยปละละเลยกระต่ายของคุณ เพราะเย็นของคุณ กับเย็นของกระต่ายไม่เหมือนกัน

แล้วเราควรเตรียมตัวและทำอย่างไร ในเวลาที่อากาศเย็นมาเยือน


1. เคี้ยวเพื่อความอบอุ่น

เมื่ออากาศเย็น กระต่ายจะกินมากขึ้น เพราะเขากำลังคิดว่าฤดูหนาวแล้วนะ อาหารจะหายากขึ้น ต้องขอกักตุนไว้ก่อน และยิ่งกินมาก ร่างการยิ่งอบอุ่น บางท่านเห็นกระต่ายกินเยอะ กินจนหมด คิดว่าเขากินไม่พอ ให้เท่าไหร่ก็กินไม่อิ่มเสียที ต้องคอยเติมให้ตลอด กระต่ายกินเยอะ กินทั้งวัน เป็นเรื่องที่ดี หากคุณให้อาหารเม็ดกับเขา ลองเปลี่ยนเป็นหญ้าแห้งอย่างทิมโมธีจะเป็นสิ่งที่ดีกว่า นอกจากจะเคี้ยวเพื่อสร้างความอบอุ่นแล้ว ยังเพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาวของเขาอีกด้วย คุณจะใส่หญ้าไว้เต้มกรงก็ได้ ไม่ต้องกลัวเขาว่า เพราะแป๊บเดียวเท่านั้น เฮียแกฟาดเรียบจนหมดกรง


2. ยิ่งเคี้ยวมาก ยิ่งฝืดคอ

ยิ่งกระต่ายกินหญ้าแห้งมากเท่าไหร่ “น้ำสะอาด” ยิ่งจำเป็นสำหรับเขา กระต่ายที่กินหญ้าเยอะ ปริมาณน้ำจะหมดไวตาม ฉะนั้น ขวดน้ำ เป็นสิ่งจำเป็น ที่คุณต้องคอยตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ ว่าเขามีน้ำพอกินในแต่ละวันหรือเปล่า ที่สำคัญอย่าลืมล้างขวดน้ำให้เขาบ่อยๆด้วยล่ะ แก้วน้ำสกปรกคุณยังไม่อยากใช้ นับประสาอะไรกับขวดน้ำกระต่ายที่เต็มไปด้วยตะไคร่เขียวๆ ..อี๋


3. อากาศก็เย็น แถมยังมีกลิ่นเหม็น อีกตะหาก

ยิ่งเย็น กระต่ายยิ่งกินเยอะ.. เมื่อกินเยอะ อึ และ ฉี่ ก็มากขึ้นเป็นธรรมดา หากคุณไม่ดูแลความสะอาดห้องน้ำให้เขา เขาคงไม่ปลื้มแน่ๆ ที่ต้องทนอยู่กับกลิ่นแอมโมเนียฉุนๆ ก็มันทั้งเย็นแถมยังโคตรเหม็นอีกตะหาก ใครมันจะไปทนไหวล่ะ คุณทาส!


4. ซุก!! คลายหนาว

สำหรับคนมีคู่ คุณอาจจะซุกตัวอยู่กับคนรัก.. คนโสดอาจจะซุกตัวอยู่กับกองผ้าห่ม.. กระต่ายก็ต้องการที่ซุกเช่นเดียวกัน จะนอนเบียดกับเพื่อนซี้เพื่อแบ่งปันความอบอุ่นของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนที่เป็นเพื่อนกระต่ายด้วยกัน หรือ เพื่อนซี้ตุ๊กตาเน่าๆของเขาก็ได้.. อาจจะเป็นกองผ้าห่มก็ดี.. ไม่ก็ลังกระดาษที่คุณทำไว้ให้ นอกจากจะช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกายแล้ว ยังใช้หลบภัยในยามที่เขาคิดว่าไม่ปลอดภัย แถมยังเอาไว้แทะเล่นแทนสายชาร์จโทรศัพท์ของคุณได้อีกด้วย


5. นอกบ้านมันเหงา และ หนาวมาก

บางบ้านเลี้ยงไว้นอกตัวบ้าน หากสะดวกย้ายตำแหน่งที่ตั้งของกรงได้ ไม่ว่าจะย้ายเข้ามาในบ้าน หรือ บริเวณไหนสักแห่ง ที่มีที่กำบัง ไม่โดนลมหนาวที่เข้าปะทะเต็มๆ คุณอาจจะหาผ้าใบ ผ้า หรือ อะไรที่คุณคิดว่าสามารถบังลมหนาวให้เขาได้ มาคลุมให้เขา แต่อย่าปิดคลุมจนมิดชิดจนเขาหายใจไม่ออกล่ะ


6. ขยับร่างกาย เพิ่มความอบอุ่น

อย่าปล่อยให้กระต่ายของคุณกินและนอนอืดอยู่แต่ในกรง การปล่อยให้กระต่ายออกมาวิ่งเล่นบนพื้นที่อื่นๆบ้าง เป็นสิ่งที่ดี นอกจากจะลดความเครียดให้กระต่ายแล้ว ยังทำให้เขามีสุขภาพที่ดี เนื่องจากได้ออกกำลังกายอีกด้วย อย่างที่ได้บอกไว้ ว่าอากาศเย็นๆ มักกระตุ้นให้ “กระต่ายดีด” แต่จะดีดมาก ดีดน้อย ก็แล้วแต่นิสัยของแต่ละตัว ฉะนั้น ปล่อยกระต่ายของคุณออกมาจากกรงบ้างก็ได้


7. ได้หมด ถ้า(กินแล้ว)สดชื่น

กินหญ้าแห้งมานาน อาจขอเติมพลังใจ สักเม็ดสองเม็ด ก็ยังดี นี่ก็เดือนนึงแล้ว ยังไม่ตกถึงท้องเลย T-T ไม่ว่าจะเป็นแครอทสดหั่นชิ้นเล็กๆสักชิ้น หรือ มะละกออบแห้งสัก 2 ชิ้น อาจทำให้เขาอารมณ์ดี เนื่องจากงอนคุณ ที่ไม่ปล่อยให้เขาออกมาวิ่ง หรือ คุณให้อาหารเขาไม่ตรงเวลา จนพาลไม่ยอมกินอาหารที่คุณให้ซะงั้น หรือ คุณจะทำเฉย ไม่สนใจเขาก็ได้ ยังไงไม่นานเขาก็หายงอน และยอมเสียฟอร์มมากินอาหารในชามที่คุณเตรียมไว้ให้เองนั่นแหล่ะ แต่คุณจะใจแข็ง ทำเป็นไม่สนใจเขาได้หรือเปล่า นี่อีกเรื่องนึง ^^


กระต่าย จำเป็นต้องพึ่งพาเจ้าของ หรือ ผู้เลี้ยงอย่างคุณ เพื่อให้เขาปลอดภัยในทุกๆเรื่อง เขาไม่สามารถร้องขอความช่วยเหลือจากคุณได้ ดังนั้น โปรดใส่ใจเขาสักนิด เพราะเขาคือภาระที่คุณหามาเอง

เขียนโดย : Admin J
ภาพประกอบ : Admin J

    ภาพ บทความ หรือผลงานใดๆ ในบลอคนี้ ใช้สัญญาอนุญาต Creative Commons แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย แปลว่าคุณสามารถนำไปเผยแพร่ได้ แต่ต้องให้เครดิตกันด้วยนะจ๊ะ